วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่ควรรู้จากไมโครเวฟ

                                           รังสีจากเตาไมโครเวฟ
ไมโครเวฟคืออะไร?

ไมโครเวฟเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นเดียวกับแสงสว่าง โดยอยู่ในช่วงของคลื่นวิทยุความถี่สูง   ไมโครเวฟที่เคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง   อาจจะทะลุผ่านไป เกิดการสะท้อนหรือถูกดูดกลืน   วัตถุที่เป็นโลหะจะสะท้อนไมโครเวฟทั้งหมดที่ตกกระทบ   ส่วนวัตถุที่ไม่ใช่โลหะ เช่น แก้ว หรือพลาสติก ไมโครเวฟจะเคลื่อนที่ผ่านไปได้บางส่วน  วัตถุที่มีความชื้น เช่น ร่างกายคนเราหรืออาหารจะดูดกลืนพลังงานของไมโครเวฟ   ถ้าพลังงานที่ถูกดูดกลืนเอาไว้มากกว่าพลังงานที่คายออกมาอุณหภูมิก็จะสูงขึ้น




ไมโครเวฟใช้สำหรับทำอะไร?

โดยทั่วไปไมโครเวฟมีใช้ในงานด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม  โทรศัพท์เคลื่อนที่ เรดาร์ อุปกรณ์นำร่องทางการบินและการเดินเรือ นอกจากนั้น ยังมีการนำไปใช้ในการให้ความร้อนทางอุตสาหกรรมและการรักษาโดยการใช้ความร้อนในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน มีการใช้เตาไมโครเวฟตามบ้านเรือน ทางอุตสาหกรรม และการพาณิชย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก บทความนี้จะกล่าวถึงแต่เพียงเตาไมโครเวฟที่ใช้กันตามบ้านเท่านั้น

เตาไมโครเวฟทำงานอย่างไร ?


ในเตาไมโครเวฟมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า แมกนีตรอน ใช้สำหรับผลิตคลื่นไมโครเวฟ คลื่นไมโครเวฟที่ผลิตออกมานี้มีความถี่ 2,450 MHz ซึ่งจะปล่อยออกมาที่ช่องว่างภายในเตาที่มีผนังเป็นโลหะ คลื่นไมโครเวฟจะสะท้อนไปมาอยู่ภายในเตาและถูกดูดกลืนโดยอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราใส่เข้าไป การดูดกลืนที่ไม่สม่ำเสมอจะทำให้บางตำแหน่งเกิดจุดร้อน (hot spots) ขึ้นไมโครเวฟที่ผ่านเข้าไปในอาหารหรือของเหลวจะทำให้โมเลกุลของน้ำเกิดการสั่น ทำให้เกิดการเสียดสีกันของโมเลกุล จึงเกิดความร้อนและทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การได้รับคลื่นไมโครเวฟมีผลต่อสุขภาพอย่างไร?


ถ้าได้รับไมโครเวฟปริมาณสูงจะทำให้เกิดความร้อน ในกรณีที่เป็นเนื้อเยื่อของร่างกาย ความร้อนที่สูงเกินไปจะทำให้เป็นอันตราย เช่น เกิดการไหม้ของเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงหรือทำให้เกิด hyperthermia มีงานวิจัยเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนถึงผลกระทบของการได้รับไมโครเวฟว่ามีปริมาณระดับใดที่จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง



การตรวจสอบโดยผู้ใช้
ผู้ใช้ควรตรวจสอบตำแหน่งเหล่านี้ก่อนจะนำเตาไมโครเวฟมาใช้
  • ผนังของประตูควรมีสภาพเรียบร้อยไม่มีตำหนิ
  • ประตูของเตาไมโครเวฟควรปิดได้สนิทพอดีกับตัวเตา และสามารถเปิดปิดได้สะดวก
  • บานพับของประตูควรอยู่ในสภาพดี
  • เตาควรอยู่ในสภาพดี มีความสะอาดโดยเฉพาะขอบประตูและสภาพภายใน ไม่มีรอยไหม้
  • ไม่มีรอยสึกกร่อนที่ประตู ขอบประตูหรือภายในเตา
ข้อควรระวังเกี่ยวกับรังสี
การใช้เตาไมโครเวฟควรปฏิบัติตามคู่มือหรือคำแนะนำของผู้ผลิตและข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยดังนี้
  • ไม่ควรแก้ไขหรือขัดขวางการทำงานของระบบล็อค (nterlocking device )
  • ไม่ควรใช้เตาไมโครเวฟโดยไม่มีจานรองที่ได้รับมาจากผู้ผลิต ยกเว้นในกรณีที่คู่มือการใช้งานระบุให้ใช้ภาชนะอื่นได้
  • ไม่เปิดใช้เตาไมโครเวฟโดยไม่มีสิ่งของอยู่ภายใน ซึ่งจะดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟ เช่น อาหาร หรือน้ำ ยกเว้นในกรณีที่คู่มือการใช้งานระบุให้ทำได้
  • ขณะที่เปิดประตูของเตาไมโครเวฟ ไม่ควรวางหรือทิ้งน้ำหนักของที่มีน้ำหนักมาก เช่น ภาชนะบรรจุอาหารไว้ที่ประตูของเตา
  • ทำความสะอาดภายในเตา ประตูและขอบประตูด้วยน้ำหรือน้ำยาทำความสะอาดแบบอ่อน ไม่ควรใช้แผ่นใยขัดในการทำความสะอาด
  • ให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่เด็กในการใช้เตาไมโครเวฟ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากRadiation Emissions from Microwave Ovensเวบไซต์ www.ansto.gov.auฟิสิกส์ราชมงคล




วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ภาชนะหุงต้ม

อันตรายจากภาชนะหุงต้มในครัว

สารพิษปนเปื้อนที่มากับอาหาร จากสารเคมีบ้าง จากการขนส่งบ้าง แต่ก็มีสารพิษบางส่วนที่เราได้รับ อาจเกิดขึ้นจากภาชนะในครัวเรือนที่ใช้กันอยู่ทุกวัน

เมื่อหลายปีที่แล้วนักวิจัยได้เตือนผู้บริโภคว่า อะลูมิเนียมอาจมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ทำให้ผู้บริโภคพากันโยนหม้อ กระทะที่ทำจากอะลูมิเนียมทิ้งเป็นจำนวนมาก แต่ข้อมูลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า อะลูมิเนียมที่ละลายออกมาปนในอาหารมีปริมาณเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมหุงต้มอาหารจึงค่อนข้างปลอดภัย


ภาชนะที่ทำจากสเตนเลส เป็นภาชนะที่นิยมใช้รองลงมา สเตนเลสมีส่วนผสมของโลหะหลายชนิด เช่น นิกเกิล โครเมียม เหล็ก และโมลิบเดนัม จากการวิจัยพบว่าภาชนะเครื่องครัวที่ทำจากสเตนเลส อาจให้ประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะสเตนเลสมีส่วนผสมของโครเมียมและธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เมื่อนำมาใช้หุงต้มก็จะมีธาตุเหล่านั้นออกมาปะปนในอาหารเพียงเล็กน้อย จึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่กลับให้ประโยชน์ต่อผู้ที่ขาดโครเมียมและธาตุเหล็ก

แต่ขณะเดียวกัน สารนิกเกิลอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของผิวหนังได้ ในผู้ที่แพ้นิกเกิล อย่างไรก็ตาม นิกเกิลจะละลายออกมาในอาหารที่เครื่องปรุงมีฤทธิ์เป็นกรด เช่น การใช้น้ำส้มสายชูหรือซอสมะเขือเทศ สำหรับคนที่มีอาการแพ้สารนิกเกิล ก็อาจจะเลือกใช้ภาชนะสเตนเลสที่เคลือบสารอีนาเมลซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด

ภาชนะที่ทำมาจากทองแดง ตอบสนองต่อความร้อนได้ดี แต่ถ้านำมาปรุงอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะสามารถละลายทองแดงออกมาได้ ทองแดงจะเป็นธาตุที่สำคัญต่อร่างกายในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง การได้รับทองแดงในปริมาณเล็กน้อยไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ แต่ถ้าร่างกายได้รับการสะสมทองแดงในปริมาณมากเกินระดับที่ควรมีในเลือด จะทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนจากทองแดงเป็นพิษได้ เพื่อป้องกันปัญหานี้ภาชนะที่ทำจากทองแดง จึงได้รับวิวัฒนาการขึ้นมาด้วยการเคลือบดีบุก แต่ดีบุกที่เคลือบไว้ก็จะมีการเสื่อมไปตามอายุการใช้งาน ฉะนั้นเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็ควรจะมีการเปลี่ยนใหม่

ภาชนะที่เคลือบสารเทฟลอน สารชนิดนี้ช่วยป้องกันการติดของอาหาร ทั้งยังทำความสะอาดง่าย และช่วยลดปริมาณไขมันในการปรุงอาหารได้ด้วย เพราะภาชนะหากไม่เคลือบเทฟลอนจะต้องใช้น้ำมันมากขึ้นเวลาผัดหรือทอด เพื่อไม่ให้อาหารติดกระทะ อนึ่งหากมีการลอกหลุดของสารที่เคลือบปะปนกับอาหาร ก็จะไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากเป็นสารที่ไม่เป็นพิษ ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเข้าไปได้และจะถูกขับถ่ายออกมา

ภาชนะเซรามิก ภาชนะชนิดนี้มีส่วนผสมของสารตะกั่วอยู่ หากมีอยู่ในปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นอันตรายได้ เมื่อนำไปใส่อาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด รวมทั้งมีข้อเตือนว่าไม่ควรใช้ภาชนะประเภทนี้กับกาแฟร้อน ชาร้อน ซุปมะเขือเทศ และน้ำผลไม้เพราะจะทำให้สารตะกั่วละลายออกมาได้

สารตะกั่วเป็นอันตรายต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ ระบบหมุนเวียนโลหิตหัวใจ ระบบภูมิต้านทาน และระบบย่อยอาหาร สารตะกั่วจะถูกดูดซึมเข้าไปสะสมอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะในกระดูกจะสะสมปนกับแคลเซียม เพราะร่างกายไม่สามารถจะแยกระหว่างสารตะกั่วและแคลเซียมได้ ถ้าสารตะกั่วสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดพิษได้ ถ้าเกิดขึ้นในเด็กสารตะกั่วจะทำลายเซลล์สมอง ทำให้สมรรถภาพในการเรียนรู้เสียไป ยับยั้งการเจริญเติบโตทำให้ร่างกายแคระแกรน และตายในที่สุด

ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ภาชนะเซรามิกบรรจุเก็บรักษาอาหาร หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน

ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการใช้ภาชนะ

หลีกเลี่ยงการเก็บรักษาอาหารเป็นเวลานาน ๆ ในภาชนะหุงต้ม เมื่อปรุงอาหารเสร็จแล้ว อาหารที่เหลือควรเก็บไว้ในภาชนะพลาสติกหรือภาชนะที่ทำด้วยแก้ว

ทำความสะอาดภาชนะตามคำแนะนำของผู้ผลิต หลีกเลี่ยงการขัดถูที่จะทำให้ผิวหน้าของภาชนะถลอกหรือหลุดลอก


พลาสติกในครัวเรือนปลอดภัยเพียงใด ?

สารเคมีที่สลายจากพลาสติกสามารถผ่านเข้าไปในอาหารได้ ไม่ว่าจะถูกความร้อนหรือไม่ แต่ความร้อนและแสงจะเร่งกระบวนการให้เกิดเร็วขึ้น คำถามที่ตามมาคือ สิ่งเหล่านั้นก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารประเภทที่ทำลายฮอร์โมน สารประเภทนี้จะรบกวนหรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนธรรมชาติในร่างกาย ลดปริมาณอสุจิ ทำให้เด็กเป็นสาวเร็วกว่าอายุที่ควรและเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

พลาสติกที่สลายตัวสามารถที่จะผ่านเข้าไปปะปนกับอาหาร พบได้มากในภาชนะใช้ใส่อาหารซื้อกลับบ้าน อาหารที่บรรจุในภาชนะประเภทนี้เป็นเวลานาน จะมีกลิ่นและรสของพลาสติกชนิดนี้ติดมาด้วย

อาหารประเภทที่เป็นกรด จะดูดซึมสารพลาสติกได้ดีกว่าอาหารชนิดที่เป็นด่างหรือกรดต่ำ ความร้อนสูง ๆ เช่น จากเตาไมโครเวฟ และความเย็นจากตู้เย็นสามารถเพิ่มปริมาณการดูดซึมสารพลาสติกเข้าไปในอาหารได้

แม้แต่พลาสติกที่ใช้กับเตาไมโครเวฟก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อันตรายที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคมักใช้ภาชนะพลาสติกที่ไม่ได้ระบุว่า ใช้กับตู้อบไมโครเวฟอุ่นอาหาร ทำให้พลาสติกละลายเข้าไปในอาหารและยังทำลายรสชาติของอาหารที่อุ่น

ข้อแนะนำสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก

เวลาอุ่นอาหารในตู้อบไมโครเวฟ เลือกภาชนะที่ทำจากแก้วหรือเซรามิคแก้ว หลีกการเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติก แม้จะระบุว่าปลอดภัยในการใช้กับไมโครเวฟ

ไม่ใช้พลาสติกห่ออาหารในการปรุงหรืออุ่นอาหารในตู้อบไมโครเวฟ

อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรือซีสใช้วัสดุประเภทโฟลีเอ็ทธีลีนห่อเพราะไม่มีสารพลาสติก หรือถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นห่อด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์หรือกระดาษไข

อาหารที่เหลือ เก็บไว้ในภาชนะประเภทที่ทำด้วยแก้ว

ภาชนะพลาสติกที่เก่าชำรุดไม่ควรนำมาใช้ต่อ



ขอขอบคุณจาก Health&Cuisine

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ภัยใกล้ตัว





ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ใช้อีก เสี่ยง! "มะเร็ง"

คุณๆ รู้หรือไม่ว่า ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ใช้อีกเสี่ยง! "มะเร็ง" มีคนจำนวนไม่น้อยและหลายบ้านเลยทีเดียวที่มักจะนำ ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่เรื่อยๆ และคุณเคยสังเกตไหมว่า "ขวดน้ำที่คุณใช้มันบางลง" แต่อาจจะมีบางท่านที่ลืมนึกถึงความสะอาดไป หรือลืมทำความสะอาดไปบ้าง และเพื่อให้ทุกคนที่รักในสุขภาพได้ใส่ใจในเรื่อง ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ใช้อีก นั้น ควรจะมาทำความรู้จักเรื่องนี้กันให้มากยิ่งขึ้นค่ะ และวันนี้เอ็นทรีเคดอทไอเอ็นดอททีเอช (N3K.IN.TH) ก็นำเรื่อง ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ใช้อีก เสี่ยง! "มะเร็ง" ให้ได้เป็นประโยชน์ความรู้แด่ทุกท่านที่รักในสุขภาพกันอีกด้วยค่ะ


นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ อธิบายว่า ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ใช้อีก อันตรายจริง โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกแบบโพลีคาร์บอเนต เมื่อโดนความเย็นจัดหรือร้อนจี๋ หรือ การขบกัดขูดขีดกระแทก จะทำให้มีสารก่อมะเร็งกลุ่ม BPA (Bis-phenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพลาสติกออกมา ซึ่งจากงานวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่าเพียง 3-4 ส่วนในล้านส่วนก็ก่อมะเร็งในหนูทดลองได้ ที่ซุปเปอร์มาร์เกตในแคนาดาจึงออกกฎเตือนว่า เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องปิดฉลากเตือนไว้และถ้าเป็นเครื่องบริโภคบางอย่างถึงขนาดห้ามใช้พลาสติกเลยทีเดียว

แต่ที่ทางการบ้านเรายังไม่ตื่นเต้นก็เพราะว่า ยังเป็นผลการวิจัยว่าเกิดมะเร็งในระดับสัตว์ทดลองและมีปริมาณสารพิษไม่มาก แต่อย่าลืมว่าถ้าเลี่ยงๆ ไว้ก่อนได้ก็จะดีกว่ารออีก 10 ปี มีงานวิจัยออกมาบอกว่าคนก็เป็นมะเร็งได้ซึ่งไม่มีประโยชน์เสียแล้ว

และอย่าลืมอีกข้อที่สำคัญคือถึงแม้มี BPA ปริมาณน้อยจากขวดพลาสติก แต่อย่าลืมว่าวันหนึ่งเราดื่มน้ำจากขวดพลาสติกกันหลายรอบทีเดียว เวลาเบรกจากประชุมหรือสัมมนาแต่ละทีก็ดื่มกันอึกอัก ไปแวะกินข้าว ก่อนกลับบ้านก็ดื่มอีกขวดหนึ่ง วันหนึ่ง 3-4 รอบบ่อยๆ เข้าก็มี BPA สะสมได้นะค่ะ



ลักษณะการใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ทำให้มีการเสี่ยงมีดังนี้
1. ขวดพลาสติกหรือแก้วพลาสติกเอามาใช้แล้วใช้อีก
2. ขวดพลาสติกที่กระทบกระแทกขูดขีดไปมาจากการทิ้งไว้ในรถยนต์
3. ขวดพลาสติกที่โดนความเย็นจัดต่ำกว่าศูนย์หรือร้อนจัดมาก เช่น ใส่น้ำต้มกาแฟ หรือใส่เข้าไปในไมโครเวฟ
4. กล่องโฟมพลาสติกและพลาสติกใส (Wrapper) ห่ออาหารเข้าไมโครเวฟก็ต้องระวัง
5. ขวดนมเด็กพลาสติกเพราะมีโอกาสที่สารนี้หลุดปนออกมาจากการที่เด็กอมขบกัดพลาสติก
6. ของเล่นตุ๊กตุ่น ตุ๊กตาพลาสติกราคาถูกและเครื่องใช้พลาสติกตามตลาดนัดมักทำจากพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพต่ำ ทำให้ต้องเติมสารพิเศษให้พลาสติกเสถียรซึ่งสารนี้ก่อมะเร็งได้
7. อาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง เช่น ในนมวัวที่มาจากวัวกินหญ้าปนเปื้อนยาฆ่าแมลง จะมีสารซีโนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนมรณะทำให้เด็กสาวโตวัยมีนมแตกพานได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 3 ขวบ



วิธีหนีให้ไกลมัจจุราชเงียบในพลาสติก คือ
1. ใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก
2. ใช้จานชามกระเบื้องหรือหม้อกระเบื้องเคลือบแทน
3. รณรงค์ให้ใช้วัสดุอินทรีย์แทนพลาสติก เช่น ใบตอง ห่อผัดไทยใช้เชือกกล้วยผูกหิ้ว
4. ขวดน้ำพลาสติกอย่าทิ้งไว้ในรถหรืออย่านำกลับมาใช้ใหม่
5. อย่าใช้ความร้อนสูงหรือใช้ความเย็นจัดกับภาชนะพลาสติก เช่น เอาไปใส่ในไมโครเวฟหรือใส่ไว้ในช่องแช่แข็ง
6. อย่าให้ภาชนะกระทบกระแทกหรือขูดขีดมาก ระวังไม่ให้เด็กอมขวดหรือกัดพลาสติกเล่น
7. ในแต่ละวันจำกัดการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกไว้ไม่ให้มากเกินไป ไม่ใช่ประชุมกัน 4 รอบ ก็กินเบรกแกล้มกับดื่มน้ำขวดพลาสติกทุกครั้ง อาจใช้แก้วกาแฟรองน้ำเปล่าดื่มบ้างก็ได้


อย่างไรก็ตามสำหรับขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ทำมาจากพลาสติกโพลิเอทีลีนเทอเรพทาเลท หรือ PET ที่มีความปลอดภัยสูงความโปร่งใสแข็งแรงทนทาน เหนียว ไม่แตกง่าย แต่เพื่อความปลอดภัยก็ไม่ควรที่จะนำมาใช้ซ้ำๆ นานๆ ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่นกัน



ขอขอบคุณข้อมูลการดูแลสุขภาพจาก อสมท. ขอขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

สารเคลือบจาน







                     มีใครรู้บ้างว่า ขณะนี้คนไทยเสี่ยงภัยจากสารอันตรายที่ปนเปื้อนมากับอาหารบริโภคมากขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะภาชนะใส่อาหาร ซึ่งเป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวและต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ต้องระวังก็คือ สีที่ใช้เคลือบลวดลายในถ้วย ชาม กระเบื้องเคลือบดินเผาหรือที่เรียกว่าเซรามิก  





                        ซึ่งมีวางขายทั่วๆ ไปตามตลาดสด ตลาดนัด ชาวบ้านมักนิยมเลือกส่วนที่มีลวดลายสวยงาม แต่ไม่รู้ถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ในสีที่ใช้เคลือบลวดลาย ซึ่งมีสารตะกั่วเป็นส่วนผสม เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีสภาพเป็นกรด การปนเปื้อนสารตะกั่วไม่สามารถมองเห็นได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัว  




                     เมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกว่าร้อยละ 95 มักปนเปื้อนมากับอาหาร จะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทและสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ตัวสั่น ทำลายไต ทำลายเม็ดเลือดแดง หากเป็นในเด็กเล็ก แม้ได้รับเพียงปริมาณน้อย ก็จะมีผลให้เติบโตช้า ไอคิวต่ำ เพราะสมองถูกตะกั่วทำลาย ประสิทธิภาพการเรียนรู้จะลดลง พิษเหล่านี้จะค่อยๆ สะสมในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ 


                               กรมวิทยาศาสตร์การเพทย์ตรวจสอบถ้วย จาน ชาม เซรามิกที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะตามตลาดนัด ซึ่งมีราคาถูกประมาณชิ้นละ 10-15 บาท พบว่าภาชนะเซรามิกประเภทจานแบนที่เคลือบลวดลายสีภายใน ตรวจทั้งหมด 14 ตัวอย่าง พบสารตะกั่วทุกตัวอย่าง ส่วนจานแบนที่เป็นสีขาว ไม่มีลวดลายด้านใน ตรวจ 8 ตัวอย่าง ไม่พบสารตะกั่วทุกตัวอย่าง และจานเซรามิกที่มีสี แต่ไม่มีลวดลายด้านใน ตรวจ 7 ตัวอย่าง ไม่พบสารตะกั่วเช่นกัน 

          ในภาชนะเซรามิกประเภทถ้วย ชาม ได้ตรวจถ้วยที่มีสีขาว และเคลือบลายด้านใน จำนวน 15 ตัวอย่าง พบสารตะกั่วทุกตัวอย่าง ส่วนถ้วยที่มีสีขาวและไม่ได้เคลือบลวดลายด้านใน ตรวจ 3 ตัวอย่าง ไม่พบทุกตัวอย่าง เมื่อนำภาชนะกระเบื้องเคลือบที่ตรวจพบสารตะกั่ว มาตรวจยืนยันผลในห้องปฏิบัติการพบว่า มี 1 ตัวอย่างที่มีสารตะกั่วเกินค่ากำหนดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2528) 


             "ดังนั้น จึงแนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะแม่บ้านในการเลือกจานชามเซรามิก อย่าเห็นแก่ราคาถูก หรือลวดลายสวยงาม ถ้วยชามที่ปลอดภัยที่สุด ควรเป็นชนิดที่ไม่มีลวดลายด้านใน หากเป็นถ้วยชามที่มีลวดลายด้านใน ลักษณะรอยลวดลายจะต้องเรียบเป็นเนื้อเดียวกันกับกระเบื้อง วิธีทดสอบง่ายๆ เมื่อใช้มือเปล่าลูบที่ลายแล้ว จะต้องไม่สะดุดรอยนูน หากลูบแล้วสะดุด มีโอกาสเสี่ยงต่อการละลายของสารตะกั่วออกมา ถ้าสีที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน"  





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์